"สงกรานต์" เป็นคำภาษาสันสกฤต แปลว่า "ผ่าน" หรือ "เคลื่อนย้ายเข้าไป" ในที่นี้หมายถึงเป็นวันที่พระอาทิตย์ ผ่านหรือเคลื่อนย้าย จากราศีมีน เข้าสู่ ราศีเมษ ในเดือนเมษายน ถือเป็นช่วงสงกรานต์หากพระอาทิตย์เคลื่อนย้าย ในช่วงเดือนอื่น ๆ ถือเป็นการเคลื่อนย้ายธรรมดา ตามปกตินั้น พระอาทิตย์จะย้ายจากราศีหนึ่งไปสู่อีกกลุ่มดาวหนึ่งเป็นประจำทุกเดือน หรือจะเรียกว่าเป็นการย้ายจากกลุ่มดาวหนึ่งไปสู่อีกกลุ่มดาวหนึ่ง ตามหลักโหราศาสตร์หรือภาษาโหร เรียกว่า"ยกขึ้นสู่" ตัวอย่างเช่น พระอาทิตย์ขึ้นสู่ราศีเมษ ก็คือการที่พระอาทิตย์ย้ายจากกลุ่มดาวราศีมีนไปสู่กลุ่มดาวราศีเมษ ซึ่งเป็นราศีถัดไปนั่นเอง
โหรโบราณ ได้แบ่งท้องฟ้าออกเป็น 12 ส่วน ส่วนหนึ่ง ๆ เรียกว่าราศี ซึ่งมีราศีละ 30 องศา รวม 12 ราศี ก็เท่ากับ 360 องศาครบรอบวงกลมพอดี ตามตัวอย่างข้างล่างนี้
ราศีเมษ
เกิดระหว่างวันที่ 13 เมษายน-13 พฤษภาคม
ราศีพฤษภ
เกิดระหว่างวันที่ 14 พฤษภาคม - 13 มิถุนายน
ราศีเมถุน
เกิดระหว่างวันที่ 14 มิถุนายน -14 กรกฎาคม
ราศีกรกฎ
เกิดระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม - 16 สิงหาคม
ราศีสิงห์
เกิดระหว่างวันที่ 17สิงหาคม -16 กันยายน
ราศีกันย์
เกิดระหว่างวันที่ 17 กันยายน - 16 ตุลาคม
ราศีตุล
เกิดระหว่างวันที่ 17 ตุลาคม - 16 พฤศจิกายน
ราศีพิจิก
เกิดระหว่างวันที่ 17 พฤศจิกายน - 15 ธันวาคม
ราศีธนู
เกิดระหว่างวันที่ 16 ธันวาคม - 15 มกราคม
ราศีมังกร
เกิดระหว่างวันที่ 16 มกราคม - 12 กุมภาพันธ์
ราศีกุมภ์
เกิดระหว่างวันที่ 13 กุมภาพันธ์ - 13 มีนาคม
ราศีมีน
เกิดระหว่างวันที่ 14 มีนาคม - 12 เมษายน
ด้วยเหตุนี้ เมื่อสงกรานต์ แปลว่า ผ่าน หรือ เคลื่อนย้ายเข้าไป วันสงกรานต์จึงต้องมีอยู่ประจำทุกเดือน เพราะดวงอาทิตย์จะย้ายจากราศีหนึ่ง ไปสู่อีกราศีหนึ่งซึ่งอยู่ถัดไปเดือนละ 1 ครั้ง เสมอ
แต่ในวันและเวลาที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ (ตามภาษาโหร) หรือเคลื่อนย้ายจากราศีมีนเข้าไปสู่ราศีเมษ ในเดือน เมษายน (ซึ่งตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5) เราถือเป็นกรณีพิเศษ เรียกว่าวันมหาสงกรานต์ด้วยถือกันว่าเป็นวันและแวลาที่ตั้งต้นสู่ปีใหม่ เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ ตามการคำนวณของโหรผู้รู้ทางโหราศาสตร์ เพราะในสมัยโบราณเรานับถือเดือนเมษายนเป็นเดือนแรกของปี สมัยพระบาท สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ.2432 ได้กำหนดให้ใช้ วันขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 ซึ่งตรงกับวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ และได้ใช้เรื่อยมา สาเหตุก็เพราะสอดคล้องกับธรรมเนียมโบราณ เนื่องจาก หากนับทางจันทรคติ จะตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 ซึ่งก็คือวันสงกรานต์ หรือวันที่ดวงอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนไปสู่ราศีเมษนั่นเอง
และได้มีการใช้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันปีใหม่ของไทยแต่นั้นเรื่อย มาแม้ว่าในปีต่อไปจะไม่ตรงกับวันสงกรานต์ (หมายถึงวันที่ดวงอาทิตย์ย้ายจากราศีมีน ไปสู่ราศีเมษ) ทั้งนี้เพื่อให้มีการกำหนดวันทางสุริยคติที่แน่นอนตายตัวลงไป
ต่อมาในวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2483 คณะรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม ได้ประกาศให้ใช้วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2484 เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับประเทศอื่น ๆ เป็นสากลทั่วโลกและใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นเรายังถือเอาวันที่ 14 เมษายนเป็นวันครอบครัว อีกด้วย
วันมหาสงกรานต์
เมื่อถึงเดือน 5 ตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุก ๆ ปีเราเรียกวันนี้ว่า " วันสงกรานต์ " ประเพณีไทยเดิมถือว่าวันนี้เป็นวันขึ้นปีใหม่ธรรมเนียมไทยเราก็จะมีการเล่น รื่นเริง มีการรดน้ำดำหัวโดยเฉพาะหนุ่มๆ สาวๆ จะสนุกกันเต็มที่เล่นสาดน้ำกันโดยไม่ถือเนื้อถือตัวเลย ในชนบทหลายแห่ง มีการเล่นพื้นเมืองต่าง ๆ กัน อนึ่งวันนี้บางแห่งจะเริ่มจากวันที่ ๑๓ เมษายน และมีการเล่นสนุกสนานไปราว ๆ๑ สัปดาห์ หรือกว่านั้น แต่ไม่เกิน 2 สัปดาห์ ระยะนี้จะมีการนำน้ำหอมเสื้อผ้าอาภรณ์ไปรดน้ำผู้ใหญ่
ญาติพี่น้องที่เคารพนับถือและทางศาสนาก็จัดให้มีการบายศรีพระสงฆ์สมภารเจ้าวัด
สรงน้ำพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เท่าที่มีตามวัดต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง
เพลงวันสงกรานต์
กำเนิดวันสงกรานต์ มีเรื่องเล่าสืบ ๆ กันมา น่าจดจำไว้ดังข้อความจารึกวัดเชตุพน ฯ ได้กล่าวไว้ประดับความรู้ของสาธุชนทั้งหลายดังต่อไปนี้
" ....เมื่อต้นภัทรกัลป์ มีเศรษฐีคนหนึ่ง มั่งมีทรัพย์มาก แต่ไม่มีบุตรบ้านอยู่ใกล้นักเลงสุรา นักเลงสุรานั้นมีบุตร ๒ คน ผิวเนื้อดุจทอง วันหนึ่งนักเลงสุราเข้าไปในบ้านของเศรษฐี แล้วด่าเศรษฐี ด้วยถ้อยคำหยาบคายต่าง ๆ เศรษฐีได้ฟังจึงถามว่า พวกเจ้ามาพูดหยาบคายดูหมิ่นเราผู้เป็นเศรษฐีเพราะ เหตุใด พวกนักเลงสุราจึงตอบว่า ท่านมีสมบัติมากมายแต่หามีบุตรไม่ เมื่อท่านตายไปสมบัติก็จะ อันตรธานไปหมด หาประโยชน์อันใดมิได้ เพราะขาดทายาทผู้ปกครอง ข้าพเจ้ามีบุตรถึง ๒ คน และ รูปร่างงดงามเสียด้วย ข้าพเจ้าจึงดีกว่าท่าน เศรษฐีครั้นได้ฟังก็เห็นจริงด้วย จึงมีความละอายต่อนักเลง สุรายิ่งนัก จึงนึกใคร่อยากได้บุตรบ้าง จึงทำการบวงสรวงพระอาทิตย์และพระจันทร์ ตั้งจิตอธิษฐาน เพื่อขอให้มีบุตร อยู่ถึง ๓ ปี ก็มิได้มีบุตรสมดังปรารถนา
เมื่อขอบุตรจากพระอาทิตย์และพระจันทรืมิได้ดังปรารถนาแล้วอยู่มาวันหนึ่ง ถึงฤดูคิมหันต์ จิตรมาส ( เดือน ๕ ) โลกสมมุติว่าเป็นวันมหาสงกรานต์ คือ พระอาทิตย์ยกจากราศีมีนประเวสสู่ราศีเมษ คนทั้งหลายพากันเล่นนักขัตฤกษ์เป็นการรื่นเริงขึ้นปีใหม่ทั่วชมพูทวีป ขณะนั้นเศรษฐีจึงพาข้าทาสบริวาร ไปยังต้นไทรริมฝั่งแม่น้ำอันเป็นที่อยู่แห่งปักษีชาติทั้งหลาย เอาข้าวสารซาวน้ำ ๗ ครั้ง แล้วหุงบูชา รุกขพระไทรพร้อมด้วยสูปพยัญชนะอันประณีต และประโคมด้วยดุริยางค์ดนตรีต่าง ๆ ตั้งจิตอธิษฐาน ขอบุตรจากรุกขพระไทร รุกขพระไทรมีความกรุณา เหาะไปขอบุตรกับพระอินทร์ให้กับเศรษฐี
พระอินทร์จึงให้ธรรมบาลเทวบุตร ลงไปปฏิสนธิในครรภ์ บิดามารดาขนานนามว่า ธรรมบาลกุมาร แล้วจึงปลูกปราสาทขึ้น ให้กุมารอยู่ใต้ต้นไทรริมสระฝั่งแม่น้ำนั้น ครั้นกุมารเจริญขึ้น ก็รู้ภาษานกแล้วเรียนจบไตรเพทเมื่ออายุได้ ๘ ขวบ และได้เป็นอาจารย์บอกมงคลการต่าง ๆ แก่มนุษย์ ชาวชมพูทวีปทั้งปวงซึ่งขณะนั้นโลกทั้งหลายนับถือท้าวมหาพรหม และกบิลพรหมองค์หนึ่งได้แสดง มงคลการแก่มนุษย์ทั้งปวง
เมื่อกบิลพรหมแจ้งเหตุที่ธรรมกุมารเป็นผู้มีชื่อเสียง เป็นที่นับถือของมนุษย์ชาวโลกทั้งหลาย จึงลงมาถามปัญหาแก่ธรรมกุมาร ๓ ข้อ ความว่า
1. เวลาเช้า สิริคือราศีอยู่ที่ไหน
2. เวลาเที่ยง สิริคือราศีอยู่ที่ไหน
3. เวลาเย็น สิริราศีอยู่ที่ไหน
และสัญญาว่า ถ้าท่านแก้ปัญหา ๓ ข้อนี้ได้เราจะตัดศีรษะเราบูชาท่าน ถ้าท่านแก้ไม่ได้ เราจะตัดศีรษะของท่านเสีย ธรรมกุมารรับสัญญา แต่ผลัดแก้ปัญหาไป ๗ วัน กบิลพรหมก็กลับไปยัง พรหมโลก
ฝ่ายธรรมบาลกุมารพิจารณาปัญหานั้นล่วงไปได้ ๖ วันแล้วยังไม่เห็นอุบายที่จะตอบปัญหาได้ จึงคิดว่าพรุ่งนี้แล้วสิหนอ เราจะต้องตายด้วยอาญาของท้าวกบิลพรหม เราหาต้องการไม่ จำจะหนีไป ซุกซ่อนตนเสียดีกว่า คิดแล้วลงจากปราสาทเที่ยวไปนอนที่ต้นตาล ๒ ต้น ซึ่งมีนกอินทรี ๒ ตนผัวเมีย ทำรังอยู่บนต้นตาลนั้น
ขณะที่ธรรมบาลกุมารนอนอยู่ใต้ต้นตาลนั้น ได้ยินเสียงนางนกอินทรีถามผัวว่า พรุ่งนี้เรา จะไปหาอาหารที่ไหน นกอินทรีผู้ผัวตอบว่า พรุ่งนี้ครบ ๗ วันที่ท้าวกบิลพรหม ถามปัญหาแก่ธรรมบาล กุมาร แต่ธรรมบาลกุมารแก้ไม่ได้ ท้าวกบิลพรหมจะตัดศีรษะเสียตามสัญญา เราทั้ง ๒ จะได้กินเนื้อมนุษย์ คือ ธรรมบาลกุมารเป็นอาหาร นางนกอินทรีจึงถามว่าท่านรู้ปัญหาหรือ ? ผู้ผัวตอบว่ารู้แล้วก็เล่าให้นาง นกอินทรีฟังตั้งแต่ต้นจนปลายว่า
1. เวลาเช้าราศีอยู่ที่ หน้า คนทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างหน้า
2. เวลาเที่ยงราศีอยู่ที่ อก คนทั้งหลายจึงเอาน้ำและแป้งกระแจะจันทร์ลูบไล้ที่อก
3. เวลาเย็นราศีอยู่ที่ เท้า คนทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างเท้า
ธรรมบาลกุมารนอนอยู่ใต้ต้นไม้ได้ยินการสนทนาของทั้งสองก็จำได้ จึงมีความโสมนัส ปีติยินดีเป็นอันมาก แล้วจึงกลับมาสู่ปราสาทของตน
ครั้นถึงวาระเป็นคำรบ ๗ ตามสัญญา ท้าวกบิลพรหมก็ลงมาถามปัญหาทั้ง ๓ข้อตามที่นัด หมายกันไว้ ธรรมบาลกุมารก็วิสัชนาแก้ปัญหาทั้ง ๓ ข้อตามที่ได้ฟังมาจากนกอินทรีนั้น ท้าวกบิลพรหม ยอมรับว่าถูกต้องและยอมแพ้แก่ธรรมบาลกุมาร และจำต้องตัดศีรษะของตนบูชาตามที่สัญญาไว้ แต่ก่อนที่ จะตัดศีรษะ ได้ตัดเรียกธิดาทั้ง ๗ อันเป็นบาทบริจาริกาของพระอินทร์ คือ
- นางทุงษะเทวี
- นางรากษเทวี
- นางโคราคเทวี
- นางกิริณีเทวี
- นางมณฑาเทวี
- นางกิมิทาเทวี
- นางมโหธรเทวี
อันโลกสมมุติว่าเป็นองค์มหาสงกรานต์ กับทั้งเทพบรรษัทมาพร้อมกัน แล้วจึงบอกเรื่องราว ให้ทราบและตรัสว่าพระเศียรของเรานี้ ถ้าตั้งไว้บนแผ่นดินก็จะเกิดไฟไหม้ไปทั่วโลกธาตุ ถ้าจะโยนขึ้น ไปบนอากาศฝนก็จะแล้ง เจ้าทั้ง ๗ จงเอาพานมารองรับเศียรของบิดาไว้เถิด ครั้นแล้วท้าวกบิลพรหม ก็ตัดพระเศียรแค่พระศอส่งให้นางทุงษะเทวีธิดาองค์ใหญ่ในขณะนั้น โลกธาตุก็เกิดโกลาหลอลเวงยิ่งนัก
เมื่อนางทุงษะมหาสงกรานต์เอาพานรองรับพระเศียรของท้าวกบิลพรหมแล้วก็ ให้เทพบรรษัท แห่ประทักษิณ เวียนรอบเขาพระสุเมรุราช ๖๐ นาทีแล้วจึงเชิญเข้าประดิษฐานไว้ในมณฑป ณ ถ้ำคันธธุลี เขาไกรลาศ กระทำบูชาด้วยเครื่องทิพย์ต่างๆ พระวิษณุกรรมเทพบุตรก็เนรมิตโลงแก้ว อันแล้วไปด้วย แก้ว ๗ ประการ ชื่อภัควดีให้เทพธิดาและนางฟ้าแล้ว เทพยดาทั้งหลายก็นำมาซึ่งเถาฉมุนาตลงล้างน้ำ ในสระอโนดาต ๗ ครั้ง แล้วแจกกันสังเวยทั่วทุกๆ พระองค์ ครั้นได้วาระกำหนดครบ ๓๖๕ วัน โลกสมมุติว่าปีหนึ่งเป็นวันสงกรานต์นางเทพธิดาทั้ง ๗ ก็ทรงเทพพาหนะต่างๆ ผลัดเปลี่ยนเวียนกันมา เชิญพระเศียรกบิลพรหมออกแห่พร้อมด้วยเทพบรรษัทแสนโกฏิ ประทักษิณเวียนรอบเขาพระสุเมรุ ราชบรรษัท ทุกๆ ปีแล้วกลับไปยังเทวโลก... "
ชื่อนางสงกรานต์
ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ธิดาท้าวกบิลพรหมมีอยู่ด้วยกัน ๗ นาง ถ้าปีใดนางสงกรานต์ตรงกับ อะไรใน ๗ วัน นางทั้ง ๗ ก็ผลัดเปลี่ยนเวียนกันมารับเศียรของบิดาตนเพื่อมิให้ตกลงสู่แผ่นดิน เพราะ จะเกิดฝนแล้งไฟไหม้โลก นางทั้ง ๗ มีชื่อต่างๆ กันและแต่งกายก็แตกต่างกันออกไป ประกอบกับอาวุธ ที่ถือก็แตกต่างกันด้วย ดังนี้
วันอาทิตย์ นางสงกรานต์ชื่อ ทุงษะ ทัดดอกทับทิม เครื่องประดับปัทมราช ( แก้วทับทิม ) ภักษาหาร อุทุมพร ( ผลมะเดื่อ ) อาวุธขวาจักร ซ้ายสังข์ พาหนะครุฑ
วันจันทร์ นางสงกรานต์ชื่อ โคราคะ ทัดดอกปีบ เครื่องประดับมุกดา ภักษาหารเตละ (น้ำมัน) อาวุธขวาพระขรรค์ ซ้ายไม้เท้า พาหนะพยัคฆ์ ( เสือ )
วันอังคาร นางสงกรานต์ชื่อ รากษก ทัดดอกบัวหลวง เครื่องประดับแก้วโมรา ภักษาหาร โลหิต ( เลือด ) อาวุธขวาตรีศูล ( หลาว ๓ ง่าม ) ซ้ายธนู พาหนะวราหะ ( หมู )
วันพุธ นางสงกรานต์ชื่อ มณฑา ทัดดอกจำปา เครื่องประดับไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย อาวุธขวาเข็ม ซ้ายไม้เท้า พาหนะคัทรภา ( ลา )
วันพฤหัสบดี นางสงกรานต์ชื่อ กิริณี ทัดดอกมณฑา เครื่องประดับมรกต ภักษาหารถั่วงา อาวุธขวาขอ ซ้ายปืน พาหนะคช (ช้าง)
วันศุกร์ นางสงกรานต์ชื่อ กิทิมา ทัดดอกจงกลณี เครื่องประดับบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ อาวุธขวาพระขรรค์ ซ้ายพิณ พาหนะมหิงส์ ( ควาย )
วันเสาร์ นางสงกรานต์ชื่อ มโหธร ทัดดอกสามหาว เครื่องประดับนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย อาวุธขวาจักร ซ้ายตรี พาหนะมยุรา ( นกยูง )
ประเพณีการทำบุญในวันสงกรานต์
แม้ เราจะถือเอาวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีมใหม่ตามหลักสากล แต่ธรรมเนียมไทยยังให้ความสำคัญกับวันสงกรานต์อยู่ โดยถือเอาเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามแบบไทย ดังนั้นเมื่อใกล้ถึงวันสงกรานต์การตระเตรียมทำความสะอาดอาคารบ้านเรือน และเตรียมข้าวของที่จะทำบุญตักบาตร
การทำบุญตักบาตรและการสร้างกุศลด้วยการปล่อยนกปล่อยปลา
สมัย โบราณ เมื่อถึงวันสงกรานต์ประชาชนจะพากันตื่นแต่เช้ามืด เตรียมหุงข้าวต้มแกง เพื่อนำไปทำบุญที่วัด ทุกคนจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่สีสันสดใส โดยเฉพาะหนุ่มสาวเพราะจะได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกันได้อย่างสะดวก แต่ก็ต้องอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่
เมื่อทำบุญตักบาตรหรือเลี้ยงพระเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะมีการบังสุกุลอัฐิของบรรพบุรุ ผู้ล่วงลับเพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้ นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมอื่น ๆ เช่น ก่อพระเจดีย์ทราย ซึ่งเป็นการขนทรายเข้าวัดสำหรับไว้ใช้ในงานก่อสร้างโบสถ์วิหาร มีการปล่อยนกปล่อยปลาซึ่งเท่ากับเป็นการแพร่ขยายพันธ์สัตว์ให้คงอยู่ไปชั่ว ลูกชั่วหลาน และที่จะขาดเสียไม่ได้ก็คือการสรงน้ำพระการรดน้ำดำหัวขอพรจากผู้ใหญ่ รวมไปจนถึงการเล่นสาดน้ำกันเองในหมู่หนุ่มสาว
การสรงน้ำพระพุทธรูป,การสรงน้ำพระสงฆ์
ชาวบ้านจะนำดอกไม้ธูปเทียนไปบูชา แล้วเอาน้ำอบไปประพรมที่องค์พระ เพื่อความเป็นสิริมงคล บางแห่งมีการอัญเชิญพระพุทธรูปแห่แหนไปรอบๆหมู่บ้าน เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสได้สรงน้ำกันอย่างทั่วถึงหรือจะอัญเชิญพระพุทธรูปจาก หิ้งบูชาในบ้านมาทำพิธีสรงน้ำกันในหมู่ญาติพี่น้องก็ได้
ชาวบ้านจะได้ไปชุมนุมกันที่วัด นิมนต์พระในวัดมายังสถานที่ประกอบพิธี การรดน้ำควรรดที่มิอของท่าน ไม่ควรตักราดเหมือนกับเป็นการอาบน้ำจริง ๆ เพราะพระสงฆ์ถือเป็นเพชที่สูงกว่าคนธรรมดาทั่วไป น้ำที่ใช้ต้องเป็นน้ำฝนหรือน้ำสะอาดผสมน้ำอบไทย เมื่อสรงน้ำแล้วพระท่านก็จะให้ศีลให้พรเพื่อความเป็นสิริมงคล
การรดน้ำดำหัวขอพรญาติผู้ใหญ่และผู้ที่เคารพนับถือ
การ รดน้ำผู้ใหญ่ หากระทำกันเองในบ้าน ลูกหลานจะเชิญพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ญาติผู้ใหญ่ มานั่งในที่จัดไว้ แล้วนำน้ำอบน้ำหอมผสมน้ำมารดให้ท่าน อาจรดที่มือหรือรดทั้งตัวไปเลยก็มีในระหว่างที่รดน้ำท่านก็ให้พรแก่ลูกหลาน เสร็จพิธีแล้วจึงผลัดนุ่งผ้าใหม่ที่ลูกหลานจัดเตรียมไว้ให้ เป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีภายในครอบครัว การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือ ส่วนใหญ่จะมีผ้าใหว้เช่นเสื้อผ้าและผ้าขาวม้าไปมอบให้ด้วย การรดน้ำส่วนใหญ่จะรดที่มือ ขอศีลขอพร เป็นการแสดงความเคารพผู้มีอาวุโสและผู้มีพระคุณตามธรรมเนียมอันดีของไทย บางหมู่บ้านอาจเชิญคนแก่คนเฒ่ามารวมกัน แล้วให้ลูก ๆ หลาน ๆ ทำพิธีรดน้ำขอพร ซึ่งเป็นประเพณีอันดีงามที่ควรช่วยกันส่งเสริมและอนุรักษ์ไว้
การเล่นสาดน้ำสำหรับหนุ่มสาว
หลัง จากทำพิธีสรงน้ำพระพุทธรูป สรงน้ำพระสงฆ์ และรดน้ำขอพรจากญาติผู้ใหญ่แล้ว พวกหนุ่ม ๆสาวๆ ก็จะเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน ซึ่งน้ำที่ใช้นำมาสาดกันนั้นต้องเป็นน้ำสะอาดผสมน้ำอบมีกลิ่นหอม เด็กบางคนไม่เข้าใจถึงวัฒนธรรมถึงจุดประสงค์ของการเล่นสาดน้ำในวันสงกรานต์ เอาน้ำผสมสีหรือผสมเมล็ดแมงลัก แล้วนำไปสาดผู้อื่น ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง สถานที่เล่นสาดน้ำสวนใหญ่เป็นลานวัด หรือลานกว้างของหมู่บ้าน พอเหนื่อยก็จะมีขนมและอาหารเลี้ยง ซึ่งชาวบ้านจะช่วยกันเรี่ยไรออกเงินและช่วยกันทำไว้ จนถึงตอนเย็นจึงแยกย้ายกันกลับไปบ้านเพื่ออาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่ แล้วมาชุมนุมกันที่ลาดวัดอีกครั้ง เพื่อร่วมการละเล่นพื้นเมือง
การละเล่นพื้นบ้านในวันสงกรานต์
การ ละเล่นพื้นบ้านหรือจะเรียกว่ากีฬาพื้นเมืองก็ได้ เป็นเกมที่สร้างความสนุกสนานสามัคคี และความใกล้ชิดผูกพันพวกหนุ่ม ๆสาว ๆ จะแบ่งกันเป็นสองฝ่าย จัดทีมเพื่อเล่นแข่งขันกับฝ่ายตรงข้าม มีผู้ใหญ่เป็นกรรมการหรือผู้ควบคุม ส่วนคนเฒ่าคนแก่ก็คอยส่งเสียงเชียร์ให้กำลังใจอยู่วงนอก
การ ละเล่นที่นิยมนำมาเล่นกันในงานสงกรานต์ มีหลายอย่าง เช่น ชักเย่อ ไม้หึ่ง งูกินหาง ช่วงชัย วิ่งเปี้ยว เขย่งแตะ หลับตาตีหม้อ มอญซ่อนผ้า สะบ้า ขี่ม้าส่งเมือง ลิงชิงหลัก ฯลฯ นอกจากนั้นมีการเล่นเพลงยาว ลำตัด รำวง ฯลฯ การประกวดนางสงกรานต์ซึ่งแต่ละกิจกรรมร่วมสร้างความสนุกสนานเป็นกันเอง หนุ่มสาวได้มีโอกาสใกล้ชิดกัน ได้ศึกษาดูนิสัยใจคอ ได้มีโอกาสพูดจาโอภาปราศรัยกัน
ประเพณีการทำบุญและการละเล่นในวันสงกรานต์แต่ละท้องถิ่นอาจ มีผิดแตกต่างกันไปบ้างตามความและยุคสมัยในชนบทอาจกำหนดวันทำบุญและวันสรงน้ำ พระไม่ตรงกันในแต่ละหมู่บ้าน ด้วยเหตุนี้ พวกหนุ่ม ๆจึงมีโอกาสไปเล่นสงกรานต์ได้หลายแห่งในแต่ละปี วันสงกรานต์จึงถือเป็นประเพณีหนึ่งในหลาย ๆ ประเพณีของไทยแต่โบราณ ที่เปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้เลือกคู่หรือดูอุปนิสัยใจคอกันโดยเปิดเผยโดยไม่ ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ ต่อสายตาผู้ใหญ่
กิจกรรมวันสงกรานต์
การทำบุญตักบาตร
ถือว่าเป็นการสร้างบุญสร้างกุศลให้ตัวเอง และ อุทิศส่วนกุศลนั้นแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว การทำบุญแบบนี้มักจะเตรียมไว้ล่วงหน้า นำอาหารไปตักบาตรถวายพระภิกษุที่ศาลาวัด ซึ่งจัดเป็นที่รวมสำหรับทำบุญ ในวันนี้หลังจากที่ได้ทำบุญเสร็จแล้ว ก็จะมีการก่อพระทรายอันเป็นประเพณีด้วย
การรดน้ำ
เป็นการอวยพรปีใหม่ให้กันและกัน น้ำที่รดมักใช้น้ำหอมเจือด้วยน้ำธรรมดา
การสรงน้ำพระ
จะรดน้ำพระพุทธรูปที่บ้านและที่วัด และบางที่จัด สรงน้ำพระสงฆ์ ด้วย
การรดน้ำผู้ใหญ่
คือการไปอวยพรให้ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ครูบาอาจารย์ ท่านผู้ใหญ่มักจะนั่งลงแล้วผู้ที่รดก็จะเอาน้ำหอมเจือกับน้ำรดที่มือท่าน ท่านจะให้ศีลให้พรผู้ที่ไปรด ถ้าเป็นพระก็จะนำผ้าสบงไปถวายให้ท่านผลัดเปลี่ยนด้วย หากเป็นฆราวาสก็จะหาผ้าถุง ผ้าขาวม้าไปให้
การดำหัว
ก็คือการรดน้ำนั่นเอง แต่เป็นคำเมืองทางภาคเหนือ การดำหัวเรียกกันเฉพาะการรดน้ำผู้ใหญ่ที่เราเคารพนับถือ ผู้สูงอายุ คือการขอขมาในสิ่งที่ได้ล่วงเกินไปแล้ว หรือ การขอพรปีใหม่จากผู้ใหญ่ ของที่ใช้ในการดำหัวส่วนมากมีผ้าขนหนู มะพร้าว กล้วย และ ส้มป่อย
การปล่อยนกปล่อยปลา
ถือเป็นการล้างบาปที่ทำไว้ เป็นการสะเดาะเคราะห์ร้ายให้มีแต่ความสุขความสบายในวันขึ้นปีใหม่
การนำทรายเข้าวัด
ทางภาคเหนือนิยมขนทรายเข้าวัดเพื่อเป็นนิมิตโชคลาภ ให้มีความสุขความเจริญ เงินทองไหลมาเทมาดุจทรายที่ขนเข้าวัด
ความสำคัญของวันสงกรานต์
- เป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามประเพณีไทย และถือเป็นวันหยุดประกอบการงานหรือธุรกิจทั่วไป
- เป็นวันทำบุญตักบาตรจัดจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระบังสกุลกระดูกพรรพบุรุษ กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ
- เป็น วันแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ ในวันนี้จะมีการไปรดน้ำดำหัวขอพรจาก พ่อแม่ ผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคารพนับถือ วันสงกรานต์ถือเป็น วันสูงอายุแห่งชาติ
- เป็นวันรวมญาติมิตรที่จากไปอยู่แดนไกลเพื่อประกอบภาระ หน้าที่งานอาชีพของตน เมื่อถึงวันสงกรานต์ทุกคนจะกลับมาร่วมทำบุญสร้างกุศล จึงถือเอาวันที่ 15 เมษายน ซึ่งอยู่ในช่วงสงกรานต์เป็นวันรวมญาติหรือวันครอบครัว
- เป็นวันอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย และส่งเสริมการละเล่นตามประเพณีไทย เช่น มีการทำบุญตักบาตร เล่นสาดน้ำ ชักเย่อ มอญซ่อนผ้า เล่นสะบ้า ฯลฯ
- เป็นวันประกอบพิธีทางศาสนา เช่น มีการทำบุญตักบาตรจัดจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระ บังสุกุลกระดูกบรรพบุรุษ กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ การสรงน้ำพระพุทธรูป สรงน้ำพระสงฆ์ ขนทรายเข้าวัด (ก่อพระเจดีย์ทราย ) รับศีล ปฏิบัติธรรมฯลฯ
สรุปความสำคัญของวันสงกรานต์
1. เป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปี
2. เป็นวันทำบุญสร้างกุศล และประกอบพิธีทางศาสนา
3. เป็นวันอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมไทย
4. เป็นวันแสดงความกตัญญูกตเวที และรำลึกถึงผู้ล่วงลับ
5. เป็นวันครอบครัว วันรวมญาติและวันผู้สูงอายุ
6. เป็นวันอนุรักษ์พันธุ์สัตว์
7. เป็นวันเลือกคู่ของหนุ่มสาว
เข้าชม : 911
|